เปิดใจเด็กจุฬาฯ กับภารกิจทวงคืนทางเท้าให้คนเดิน

  • 11 พ.ค. 2563
  • 8258
หางาน,สมัครงาน,งาน,เปิดใจเด็กจุฬาฯ กับภารกิจทวงคืนทางเท้าให้คนเดิน

“พบกันคนละครึ่งทาง” คือแนวคิดของเด็กจุฬาฯกลุ่มหนึ่ง ที่ทำให้คนเดินเท้า และจักรยานยนต์ สามารถร่วมใช้ทางเท้ากันได้อย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย หากผู้ขับขี่ จยย.จำเป็นต้องใช้ทางเท้าสัญจร ซึ่งแต่เดิมใช้วิธีขับขี่ ก็ปรับใหม่หันมาจูงรถคู่ใจแทน ลดปัญหาอุบัติเหตุรวมถึงความรำคาญใจของคนเดินเท้าได้

เชื่อว่าใครหลายๆคนคงประสบปัญหาขณะเดินอยู่บนทางเท้า และจักรยานยนต์ขึ้นมาขับขี่ นอกจากจะสร้างความอันตรายแล้ว ยังก่อให้เกิดปัญหามาอีกมากมาย เช่นอุบัติเหตุ และปัญหาฉกชิงวิ่งราว แต่วันนี้มีคนกลุ่มหนึ่ง ที่พยายามรณรงค์ สร้างจิตสำนึก ให้ผู้ขับขี่จักรยานยนต์ เลิกขับขี่บนทางเท้า พวกเขาเป็นใครมาจากไหน ทำไมถึงผุดไอเดียนี้ขึ้นมา อย่ารอช้า เรามาทำความรู้จักพวกเขากันเลยดีกว่า

Q : แนะนำตัวหน่อย เป็นใครมาจากไหน ?

สวัสดีค่ะ พวกเรา 4 คน นางสาวดลธิดา โฆษกิจจาเลิศ , นางสาวณพคณา คุณรักษา , นางสาวพอเพลิน เตชะนิธิสวัสดิ์ , นางสาวโชษิตา เขมวัฒน์ เป็นนิสิตชั้นปีที่5 ภาควิชาสถาปัตยกรรมภายใน คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Q : ทำไมถึงเกิดไอเดีย คิดโครงการรณรงค์ไม่ขับขี่จักรยานยนต์บนทางเท้า? 
 

ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่า โครงการนี้เริ่มต้นมาจากวิชาเรียนหนึ่ง ซึ่งมีจุดประสงค์ให้นิสิตได้ระดมความคิดถึงปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม โดยเป็นปัญหาที่พบเจอในชีวิตประจำวัน ซึ่งพวกเรา 4 คน พบปัญหาเดียวกัน คือ ปัญหาการขับขี่จักรยานยนต์บนทางเท้า จึงมีความคิดที่จะแก้ปัญหาดังกล่าว ทำให้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการนี้ค่ะ #โครงการรณรงค์ไม่ขับขี่จักรยานยนต์บนทางเท้า #ทางเท้าของใคร

ทางเท้าของใคร

Q : ปกติเราเดินเท้าบนฟุตปาธบ่อยไหม เดินแถวไหนบ้าง?
 

บ่อยค่ะ ส่วนตัวเป็นคนชอบเดินอยู่แล้ว เพราะมันสามารถกะเวลาได้แน่นอนกว่าการรอรถ พวกเราก็เดินทุกวันค่ะ เพราะคณะของพวกเราอยู่ในทำเลที่จะต้องใช้ทางเท้าอยู่เสมอ

Q : รู้สึกอย่างไรกับคนที่ขี่ จยย.บนทางเท้า?
 

รู้สึกไม่พอใจค่ะ เพราะคิดว่ามันเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เหมือนโดนละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ทั้งๆ ที่เราเดินอยู่ในที่ที่ควรจะปลอดภัย แต่กลับต้องมาคอยระวัง

คนละครึ่งทาง

Q : บางคนเขาอ้างว่าจำเป็น ต้องขี่บนทางเท้า เพราะถ้าให้กลับรถก็ไกลหลายกิโล ถ้าขับย้อนบนฟุตปาธ แค่ไม่กี่เมตรเอง....
 

จริงๆ อยู่ที่ความคิดค่ะ คนที่อ้างแบบนั้น เพราะเอา "ตัวเอง" เป็นหลัก ถ้าเราลองเปลี่ยนความคิดใหม่ว่า "คนอื่น" จะเป็นอย่างไร จะเกิดอุบัติเหตุไหม เราก็อาจจะไม่ทำ นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายวิธีที่คนเหล่านี้สามารถเลือกทำได้ ขอยกตัวอย่าง ถ้าเราไม่อยากกลับรถไกล แล้วอยากย้อนศรบนฟุตปาธ ก็แค่ลงมาเข็นรถ เพื่อลดอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับผู้คนที่ใช้ทางเท้า อย่างเช่น วิดีโอพบกันคนละครึ่งทาง ที่พวกเราจัดทำเพื่อรณรงค์อยู่ตอนนี้ http://www.youtube.com/watch?v=Jn3USnj0NvQ

พอได้แล้ว

ทำไมล่ะ

Q : จักรยานขี่บนทางเท้าได้ปกติใช่ไหม
?

ได้ค่ะ แต่ก็ต้องดูด้วยว่าทางเท้าตรงนั้นมีคนเดินพลุกพล่านหรือไม่ ถ้ามีคนพลุกพล่านก็ไม่ควร เพราะจักรยานเองก็ควรคำนึงถึงผู้ใช้ทางเท้าด้วยเช่นกัน ยกตัวอย่างในประเทศญี่ปุ่นค่ะ อย่างที่ทราบกันดีว่า ที่ญี่ปุ่นสามารถขี่จักรยานบนทางเท้าได้อย่างปกติ แต่ในเขตชุมชน เช่น ตลาด ก็จะมีป้ายห้ามขี่จักรยานบนทางเท้าเช่นกันค่ะ คนที่ขี่มาถึงจุดนี้ก็จะลงมาจูงจักรยานแทนค่ะ

Q : เคยเห็นอุบัติเหตุของ จยย.บนทางเท้าไหม?

โดยส่วนตัวไม่เคยเห็นนะคะ แต่จากการทำแบบสอบถามคนทั่วไป พบว่า คน 17% จากทั้งหมด 212 คน เคยพบเจออุบัติเหตุที่เกิดจากการขับขี่จักรยานยนต์บนทางเท้า รวมถึงจากสถิติของกองบังคับการตำรวจจราจรเกี่ยวกับอุบัติเหตุบนทางเท้าและจักรยานของกรุงเทพฯ ปี 2554 พบว่า เกิดอุบัติเหตุบนทางเท้าทั้งหมด 1,227 ราย ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ควรเกิดขึ้นเลยแม้แต่เปอร์เซ็นต์เดียว


คุณทำอย่างไร

มีความผิดตามกฎหมาย

Q : สถานที่ไหนที่เห็น จยย.ขี่บนฟุตปาธจนเอือมระอามากที่สุด?

จริงๆ ก็ทุกที่นะคะ แต่จากประสบการณ์ของพวกเรา รู้สึกว่าบริเวณรถไฟฟ้าสถานีพร้อมพงษ์ บริเวณนี้นอกจากจะมีทางเท้าที่แคบและเต็มไปด้วยร้านค้าแผงลอย ยังมีจักรยานยนต์ที่ขับขี่บนทางเท้าอีกด้วย ยิ่งช่วงเวลาก่อนเข้างานและหลังเลิกงานนะคะ แทบไม่มีที่ให้เดินเลยค่ะ นอกจากนี้ ประสบการณ์ที่ทุกคนในกลุ่มพบเจอพร้อมกันเลย ก็คือ บริเวณรถไฟฟ้าสถานีสะพานควาย ซึ่งเป็นสถานที่ให้ถ่ายทำวิดีโอค่ะ ระหว่างถ่ายทำโดนจักรยานยนต์บีบแตร ปี๊นๆๆ ไล่ตลอดทั้งวันเลยค่ะ

Q : ปกติเวลาเราเผชิญหน้ากับ จยย.บนทางเท้า เรามีพฤติกรรมแสดงความไม่พอใจต่อพวกเขายังไงบ้าง?

แสดงออกโดยตรงไม่ได้ค่ะ กลัวโดนชน ทำได้แค่แอบด่าในใจค่ะ แต่จากการสอบถามหลายๆ คนมา มีบ้างคนก็ไม่หลบ แถมแกล้งเดินช้าๆ ด้วย ส่วนบางคนก็ถึงขั้นตะโกนด่าเลยก็มีค่ะ

ไม่พอใจนะจ๊ะ

ข้ออ้างทั้งนั้น

Q : คิดว่าต้องทำยังไง ถึงจะรณรงค์ได้สำเร็จ จนคนขี่ จยย.บนทางเท้าน้อยลง?
 

ถ้าหากเป็นการรณรงค์จากพวกเราอยู่ฝ่ายเดียว ก็คงจะไม่ประสบความสำเร็จหรอกค่ะ ต้องขึ้นอยู่กับพวกเราทุกคน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ตำรวจ เทศกิจ และที่สำคัญคือ ผู้ขับขี่จักรยานยนต์ หากพวกเราทุกคนช่วยกันแจ้งเหตุ ตำรวจ/เทศกิจ บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง และคนที่ขับขี่จักรยานยนต์มีจิตสำนึกที่ดีต่อส่วนรวม ปัญหานี้ก็จะน้อยลงค่ะ

Q : มีประเทศไทยประเทศเดียวรึเปล่า ที่คนขับ จยย. มีพฤติกรรมแบบนี้?
 

ไม่ทราบเหมือนกันค่ะ แต่ประเทศที่พวกเราเคยไป ก็ไม่เคยพบปัญหาแบบนี้นะคะ

Q : มีอะไรจะฝากถึงคนขี่ จยย. บนทางเท้าไหม?

ตามโปสเตอร์ที่พวกเรารณรงค์เลยค่ะ "หยุดพฤติกรรมเห็นแก่ตัว"

หยุดพฤติกรรมเห็นแก่ตัว

Q : อยากฝากอะไรถึงตำรวจ, เทศกิจ หรือผู้รับผิดชอบบ้าง?

อยากฝากถึงตำรวจ/เทศกิจ และผู้รับผิดชอบ ให้ช่วยบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง และปฏิบัติตนเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ประชาชนค่ะ.

หางานตามสาขาอาชีพ

JOBBKK.COM © สงวนลิขสิทธิ์ All Right Reserved

jobbkk มีเพียงเว็บเดียวเท่านั้น ไม่มีเว็บเครือข่าย โปรดอย่าหลงเชื่อผู้แอบอ้าง และหากผู้ใดแอบอ้าง ไม่ว่าทาง Email, โทรศัพท์, SMS หรือทางใดก็ตาม จะถูกดำเนินคดีตามที่กฎหมายบัญญัติไว้สูงสุด DBD

Top