ผู้สมัครงาน
ดร.ชัชวาล อรวงศ์ศุภทัต
Professional Training & Consultancy
การเรียนการสอนในชั้นเรียนมัธยมปลายที่ประเทศญี่ปุ่น มีชั่วโมงเรียนวิ่งมาราธอน เด็กนักเรียนต้องวิ่งทางไกลระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร พวกที่เป็นนักกีฬาหรือเล่นกีฬาเป็นประจำจะวิ่งได้ไม่เหนื่อยยากมากนัก ในขณะที่นักเรียนอีกกลุ่มก็พอวิ่งได้แต่ต้องใช้ระยะเวลานานมาก วิ่งไปเหนื่อยไปเพราะระยะทางก็ไม่น้อยทีเดียว กับอีกกลุ่มหนึ่งแค่วิ่งๆ ไปแบบไม่คิดอะไรมาก วิ่งแค่ให้พอจบๆ ไป แค่พอให้ได้ชื่อว่าวิ่ง เรียกว่า วิ่งไปเบื่อไป
เปรียบการวิ่งที่ว่าไปกับการทำงานในองค์กร เราก็จะพบว่าในทุกองค์กรจะมีคนอยู่ 3 กลุ่ม
กลุ่มแรก คือ “คนเก่ง (Talent)” ที่จะมุ่งมั่นตั้งใจทำงานให้สำเร็จ มีผลงานที่ดีอย่างต่อเนื่อง และมีศักยภาพในการเติบโตในสายอาชีพที่ตัวเองทำงาน
กลุ่มที่สอง เป็นกลุ่มส่วนใหญ่ที่ฝีมือปานกลาง ทำงานก็พอได้ตามมาตรฐานขั้นต่ำที่กำหนด ผลงานที่ได้ยังไม่จี๊ดจ๊าดถึงขนาดหัวหน้าร้องว้าว !
กลุ่มที่สาม จะเป็นส่วนเล็กๆ ในองค์กรที่มีผลงานยอดแย่ ทำงานพอให้จบๆ ไม่คิดใส่ใจในคุณภาพของงาน หากองค์กรเลิกจ้างได้ก็คงตัดสินใจทันที หรือหากยื่นใบลาออก ก็จะมีคนพูดว่าน่าจะทำแบบนี้ตั้งนานแล้ว
แต่ในกลุ่มคนเก่งก็ยังมี 3 ระดับ คือ คนเก่งสุด ๆ คนเก่งปานกลาง และคนเก่ง ซึ่งแม้จะเป็นคนเก่งในระดับน้อยที่สุด ก็ยังมากฝีมือและสร้างผลงานได้ดีกว่าคนอีกสองกลุ่มที่พูดถึงก่อนหน้ามากโข และต่างก็เป็นคนที่องค์กรต้องการธำรงรักษาไว้ ไม่ปล่อยให้หนีไปทำงานกับองค์กรอื่น โดยเฉพาะคู่แข่ง เพราะหากปล่อยไปแล้ว ไม่เพียงแต่จะทำให้เสียต้นทุนการสรรหาคนใหม่ที่มักจะหาได้ยากเข้ามาแทนเท่านั้น ยังนับว่าเป็นการบั่นทอนขีดความสามารถในการแข่งขันขององค์กรไปโดยไม่คาดคิดอีกด้วย
เรื่องที่น่าสนใจคือ สิ่งใดทำให้คนเก่งมีความแตกต่างที่โดดเด่นกว่า ?
ส่วนแรกก็คือ ความรู้และทักษะประสบการณ์ที่สูงกว่า ส่วนที่สองคือ การมีวิธีคิด มีแรงจูงใจ มีความรับผิดชอบกับงานและไปยาลใหญ่ที่ดีกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือมีทัศนคติเรื่องการทำงานที่ยอดเยี่ยมมากกว่า
เวลาคนเก่งเจอโจทย์อะไรที่ยาก เขาจะมองมันเป็นความท้าทายที่ต้องเรียนรู้ให้เข้าใจเพื่อให้สามารถจัดการกับมันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และเวลาเจออุปสรรคก็มักมองว่าเป็นโอกาสที่ให้ได้ทดลองทำสิ่งใหม่ เมื่อหัวหน้ามอบหมายงานที่ยากให้ทำ ก็มักถือว่าเป็นจังหวะที่จะได้พิสูจน์ฝีมือและจะไม่บ่ายเบี่ยงโดยไม่มีเหตุผล
ผู้รู้ท่านบอกว่า คนเก่งที่มีศักยภาพในการทำงานสูง มักจะมีความรู้สึกพื้นฐานกับงานที่ทำว่า "น่าจะทำได้" ไม่ใช่ทำไม่ได้หรอกเพราะไม่เคยทำแล้วไม่คิดจะลอง ความรู้สึกเช่นนี้เองที่เป็นตัวผลักดันให้คนเก่งมีความมุ่งมั่นตั้งใจ อยากลองทำและเพียรพยายามหาทางทำงานนั้นให้สำเร็จ
ผมคงกล่าวไม่ผิดหรอก ว่าคนเก่งกับคนไม่เก่งนั้น ประการหนึ่งต่างกันเพราะทัศนคติที่มีต่อการทำงานแตกต่างกัน ใครมีทัศนคติ (คิด) ทางบวกมากกว่า คนนั้นย่อมประสบความสำเร็จมากกว่าแน่นอน
แต่ถ้าไม่คิดจะเปลี่ยนความคิด ชีวิตความก้าวหน้าในการทำงานย่อมไม่มีทางเปลี่ยนแน่นอนเช่นกัน
กลับไปที่ชั่วโมงวิ่งมาราธอนของนักเรียนญี่ปุ่น หากวันหนึ่ง เด็กที่วิ่งมาราธอนด้วยความเบื่อหน่าย ปรับมุมมองใหม่ อยากเห็นภาพตัวเองเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี ตัวสูงใหญ่ ขายาวขึ้น กล้ามเนื้อแข็งแรงเป็นมัดๆ ในวันนั้นเขาจะบอกกับตัวเองว่า "คอยดูนะ ฉันจะวิ่งมาราธอนให้เพื่อน ๆ อึ้งไปเลย ว่าฉันทำได้ยังไง"
แค่คิดแบบนี้ก็เป็นแรงขับ (drive) ให้การวิ่งมาราธอนนั้นสำเร็จเป็นจริงได้ เพราะความคิดของเรานี่แหละ เป็นตัวกำหนดให้เรา "แพ้" หรือ "ชนะ" เพียงคิดว่า "น่าจะทำได้" หรือ "ไม่น่าจะทำได้" ก็เป็นตัวกำหนดการกระทำที่แตกต่างของเราแล้ว
ฉะนั้น ทัศนคติแบบ “ฉันทำได้” นี่แหละ คือคำอธิบายของความแตกต่างระหว่าง "คนเก่ง" กับ "คนไม่เก่ง"
ท่านว่าไหมครับ !
รวมเรื่องราวน่ารู้ในงาน HR จากวิทยากรและที่ปรึกษาด้านการพัฒนาบุคลากร ผู้ผ่านประสบการณ์งานบริหาร HR จากองค์กรในโรงงานอุตสาหกรรมและธุรกิจบริการ
สอบถามข้อมูลด้าน HR หรือแลกเปลี่ยนมุมมองได้ที่ 0-2514-7472 กด 6
หรือ E-mail : [email protected] (ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น)
Credit : ดร.ชัชวาล อรวงศ์ศุภทัต (Professional Training & Consultancy)
หางานตามสาขาอาชีพ
JOBBKK.COM © สงวนลิขสิทธิ์ All Right Reserved