ผู้สมัครงาน
ท้องฟ้าจำลอง...ท้องฟ้าที่ทอแสงดาวระยิบระยับแห่งเมืองกรุง ณ วันนี้ถูกแปลงโฉมให้มีความทันสมัย ตื่นตาตื่นใจ สมจริงและอัดแน่นไปด้วยความรู้ทางดาราศาสตร์อย่างเต็มเปี่ยม อีกทั้ง ที่นี่ยังเป็นแลนด์มาร์คสำคัญที่ปลูกฝังหัวใจรักวิทยาศาสตร์ให้แก่เด็กไทยทุกรุ่นทุกสมัย
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ มีโอกาสได้เข้าไปเยี่ยมชมห้องแสดงท้องฟ้าจำลองโฉมใหม่แบบเอ็กซ์คลูซีฟก่อนที่จะเปิดให้บริการในวันที่ 5 มกราคม 2559 พร้อมพูดคุยกับนางตติยา ใจบุญ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเผยแพร่ทางการศึกษา ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา และอาจารย์สุพจน์ นิธินันท์ นักวิชาการประจำท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ เกี่ยวกับเรื่อง(ไม่)ลับฉบับท้องฟ้าจำลองกรุงเทพฯ ซึ่งทีมข่าวเชื่อว่า หากคุณอ่านรายงานพิเศษชิ้นนี้จบ ที่นี่จะเป็นสถานที่อีกแห่งหนึงที่ดึงดูดให้คุณเข้าไปชมแสงดาวพร่างพราวในตอนกลางวันอย่างแน่นอน
ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพในครั้งอดีต
บรรยากาศห้องฉายดาวเมื่อหลายสิบปีก่อน
ด้านหน้าอาคารท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ
นางตติยา ใจบุญ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเผยแพร่ทางการศึกษา ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา ย้อนเล่าให้ทีมข่าวฟังเมื่อครั้งที่นี่เริ่มเปิดให้บริการท้องฟ้าจำลองป็นวันแรกให้ทีมข่าวฟังว่า ย้อนหลังไปเมื่อ 53 ปีก่อน ม.ล.ปิ่น มาลากุล นั่งเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้อนุมัติให้กระทรวงศึกษาธิการดำเนินการ สร้างท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่จะให้ประชาชนร่วมสัมผัสบรรยากาศของท้องฟ้าและดวงดาวที่ผสมผสานระหว่างความรู้ความสวยงาม โดยใช้งบประมาณทั้งสิ้น 12,439,031 บาท และรอบแรกที่เปิดให้บริการแก่ประชาชนเข้าเยี่ยมชม คือ วันที่ 18 สิงหาคม 2507
“ห้องแสดงท้องฟ้าจำลอง นับว่าเป็นห้องที่สำคัญที่สุดของอาคาร โดยรอบมีเก้าอี้ปรับเอนได้ 280 ที่นั่ง ตรงกลางห้องเป็นที่ตั้งของเครื่องฉายดาวที่คอยทำหน้าที่สร้างแสงของดวงดาวให้ไปปรากฏบนหน้าจอผืนฟ้าจำลอง จึงให้อารมณ์เสมือนดูดาวอยู่บนท้องฟ้าจริง” ผอ.ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา กล่าวถึงรูปลักษณ์ของห้องฉายดาวพอสังเขป
ในช่วงแรกของการเปิดให้บริการนั้น ที่นี่ใช้เครื่องฉายภาพยนตร์จากฟิล์ม ซึ่งนำภาพยนตร์สารคดีความรู้ทางดาราศาสตร์และความก้าวหน้าของการสำรวจอวกาศมาฉายขึ้นบนจอที่เป็นท้องฟ้าเบื้องบน โดยภาพยนตร์ส่วนใหญ่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักข่าวอเมริกัน (USIS) เช่น โครงการอะพอลโลสำรวจดวงจันทร์, หอวิจัยลอยฟ้าปรากฏการณ์สุริยุปราคา จันทรุปราคา และบรรยายเนื้อหาภาพตามสไตล์วิทยากรแต่ละท่าน ดังนั้น ผู้ชมจึงได้เรียนรู้เรื่องอื่นๆ เพิ่มเติมนอกเหนือจากการดูดาว
เปิดให้บริการท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ ในปี 2507
นางตติยา ใจบุญ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเผยแพร่ทางการศึกษา ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา
เครื่องฉายดาวคาร์ลไซซ์มาร์ค 4
ด้วยความที่ท้องฟ้าจำลองในรูปแบบเดิม ค่อนข้างคร่ำครึ อุปกรณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเก้าอี้ เครื่องฉาย ผนังห้อง หรือสภาพภูมิทัศน์ต่างๆ ภายในเสมือนกับถูกใช้ให้ตรากตรำทำงานอย่างหนักตลอดระยะเวลา 53 ปีที่ผ่านมา ทั้งๆ ที่สถานที่แห่งนี้ควรถูกปรับประยุกต์ให้มีความทันสมัย เพื่อให้สมกับเป็นแหล่งเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์อย่างแท้จริง
นางตติยา ใจบุญ ผอ.ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา กล่าวถึงท้องฟ้าจำลองโฉมใหม่ให้ทีมข่าวฟังว่า ศูนย์วิทยาศาสต์เพื่อการศึกษา ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากภาครัฐ เพื่อดำเนินการจัดซื้อและติดตั้งเครื่องฉายดาวระบบดิจิตอล พร้อมอุปกรณ์เพิ่มเติมต่างๆ ซึ่งในระหว่างการปรับปรุงห้องฉายดาว ทางศูนย์วิทยาศาสตร์ได้หยุดบริการแสดงท้องฟ้าจำลองตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา
“ทางศูนย์วิทยาศาสตร์ ได้ปรับปรุงห้องฉายดาวให้มีความทันสมัยทั้งระบบแสง สี เสียง ให้ได้มาตรฐานสากล ติดตั้งเครื่องฉายดาวระบบดิจิตอล ซึ่งมีความละเอียดสูงถึงระดับ 4K พร้อมกับตกแต่งห้องฉายดาวให้เหมือนกับแสงออโรร่า และปรับปรุงเก้าอี้นั่งให้ดีขึ้น ราวกับนั่งอยู่ในโรงภาพยนตร์” ผอ.ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา เธอสาธยายของใหม่ที่กำลังจะถูกนำมาอวดโฉมเร็วๆ นี้
ท้องฟ้าจำลอง แหล่งเรียนรู้ทางดาราศาสตร์
ตติยา ใจบุญ ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา
ปรับเปลี่ยนที่นั่งทุกตัว เพื่อให้ผู้เข้าชมได้รับความสะดวกสบายมากขึ้น
ขณะที่ ท้องฟ้าจำลองได้ใช้เครื่องฉายภาพที่มีชื่อเรียกว่า คริสตี้ (Christie) ซึ่งเป็นเครื่องโปรเจ็กเตอร์ที่มีคุณภาพอันดับต้นๆ ของโลก โดยเจ้าเครื่องฉายภาพดังกล่าว ถูกออกแบบให้ฉายดาวได้ค่อนข้างสว่างมาก อายุการใช้งานยาวนาน และที่สำคัญเลนส์ของคริสตี้นั้น ได้ถูกออกแบบเฉพาะ เพื่อท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ
“ทางศูนย์ฯ ได้จัดส่งเจ้าหน้าที่ทั้งหมด 10 คน ไปฝึกงานกับบริษัท Evans and Sutherland (E&S) ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อให้เจ้าหน้าที่ทุกคนมีความรู้ความเข้าใจในการใช้งานเครื่องคริสตี้ และเมื่อกลับมาสามารถใช้ซอฟต์แวร์ Digistar5 ที่มีความสามารถในการฉายดาวและภาพยนตร์ให้แก่ผู้เยี่ยมชมได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด” ผอ.ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา กล่าวถึงการพัฒนาบุคลากร
เจ้าหน้าที่ท้องฟ้าจำลองเรียกขานเจ้าเครื่องนี้ว่า คุณไซส์ (Zeiss)
ดวงดาวบนฟากฟ้า
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ผู้ที่มาเยี่ยมชมท้องฟ้าจำลองมักจะเป็นนักเรียน หรือเยาวชนที่ทางโรงเรียนพามาทัศนศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับปรากฏการณ์ธรรมชาติในท้องฟ้า ทั้งทางดาราศาสตร์ และอุตุนิยมวิทยา แต่ปัจจุบันประเภทของผู้เยี่ยมชมได้เปลี่ยนไป...
อาจารย์สุพจน์ นิธินันท์ นักวิชาการประจำท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ คนเก่าคนแก่ของสถานที่แห่งนี้ กล่าวตามไทม์ไลน์เวลาที่เห็นมาตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมาว่า จากอดีตที่มีแต่นักเรียน นักศึกษา หรือคนที่รักดาราศาสตร์เข้าเส้นจะมาเยี่ยมชมที่นี่ แต่ปัจจุบันมีผู้คนจำนวนมากที่เดินทางมาที่นี่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อตามรอยภาพยนต์ที่พวกเขาชื่นชอบ โดยเริ่มจากภาพยนตร์เรื่อง รถไฟฟ้ามาหานะเธอ, ตะวันฉายในม่านเมฆ, แรงเงา, เหล็กไหล เป็นต้น ซึ่งฉากจากภาพยนต์หรือละครเหล่านี้ มักเป็นการออกเดตระหว่างพระเอกและนางเอกที่เลือกมานั่งชมแสงดาวในเวลากลางวันที่ห้องฉายดาว ท้องฟ้าจำลอง
อาจารย์สุพจน์ นิธินันท์ นักวิชาการประจำท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ
อาจารย์สุพจน์ กำลังควบคุมเครื่องฉายดาว
“ปัจจุบัน คนที่มาเยี่ยมชมท้องฟ้าจำลองมักมาเป็นคู่ๆ คู่ในที่นี้คือ คู่รัก โดยที่นี่อาจแตกต่างจากสถานที่ออกเดตแห่งอื่นๆ ที่นี่คือท้องฟ้ากลางคืนที่รังสรรค์ขึ้นให้เกิดในตอนกลางวัน หากคุณลองมาสักครั้ง คุณจะรู้ว่าที่นี่มีมนต์เสน่ห์บางอย่างในตัวของมัน”อาจารย์สุพจน์ ถ่ายทอดเรื่องราว
อาจารย์สุพจน์ คนเก่าคนแก่ประจำท้องฟ้าจำลองยกตัวอย่างเหตุการณ์ประทับใจที่เกิดขึ้น ณ ห้องฉายดาวว่า เคยมีผู้ชายคนหนึ่งเดินทางมาติดต่อขอเหมารอบการแสดงฉายดาวเป็นจำนวน 1 รอบ ผู้ชายคนนี้ตั้งใจที่จะขอแฟนแต่งงาน โดยให้เหตุผลที่ว่า เขาและคนรักเดตกันครั้งแรกที่นี่ เพราะฉะนั้น ที่นี่จึงเหมาะแก่การใช้เป็นสถานที่ขอแต่งงาน จากนั้น ทางศูนย์ฯ และชายเจ้าแผนการก็หารือถึงการเซอร์ไพรส์ขอแต่งงาน ซึ่งเขาขอให้ทางเจ้าหน้าที่ช่วยดำเนินเรื่องให้บทสรุปสุดท้ายมีดวงดาวดวงหนึ่งมีแหวนแต่งงานอยู่บนดวงดาวดวงนั้น เพื่อที่เขาจะได้สวมให้แฟนสาว และทุกอย่างที่เขาวางแผนไว้ก็จบลงอย่าง happy ending
ขณะเดียวกัน ท้องฟ้าจำลองยังเป็นสถานที่อีกหนึ่งแห่ง ที่ผู้จัดละครหลายต่อหลายท่านเลือกเป็นโลเคชั่นที่ให้พระ-นางได้พบรักกัน โดยส่วนใหญ่จะถูกใช้ในซีนโรแมนติกของละครเรื่องนั้นๆ อีกทั้ง ยังเป็นแหล่งเรียนรู้ของนักโหราศาสตร์ที่จะมาค้นคว้าหาความรู้จากการเคลื่อนที่ของดวงดาว เพื่อนำไปใช้ประกอบการทำนายชะตาชีวิตอีกด้วย
โลกในอีกมุมมองหนึ่ง
นั่งดูดวงดาวในยามกลางวัน
นอกเหนือจากความรู้ทางดาราศาสตร์ หรือการสร้างแรงบันดาลใจ ท้องฟ้าจำลองได้ให้อัตถประโยชน์มากมายแก่ประชาชน ตติยา ผู้อำนวยการศูนย์ฯ ได้กล่าวไว้ว่า “หากคุณเข้าใจดาราศาสตร์อย่างลึกซึ้ง คุณจะรู้ว่าคุณเป็นเพียงฝุ่นธุลีที่อยู่ภายใต้จักรวาลอันยิ่งใหญ่ และนั่นจะทำให้คุณใช้ชีวิตอย่างไม่ยึดติดกับความเป็นไปบนโลกใบนี้”
ในอีกมุมหนึ่ง ทางศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา มีรายได้จากการเก็บค่าตั๋วเยี่ยมชม ซึ่งตติยา รักษาการผู้อำนวยการ เธอกล่าวว่า “ทางศูนย์ฯ มีค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในส่วนของห้องฉายดาวที่ต้องเปิดแอร์ตลอดทั้งวัน หากคิดเฉพาะค่าใช้จ่ายในส่วนของค่าไฟทั้งศูนย์ฯ มีจำนวนเงินสูงถึง 8-9 แสนบาทต่อเดือน ซึ่งสวนทางกับกำไรที่ได้รับจากการเก็บค่าตัวอย่างสิ้นเชิง แต่อย่างไรก็ดี ยังมีหน่วยงานของรัฐบาลที่เข้ามาช่วยเหลือเรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆ ดังนั้น รายได้จากการเก็บค่าตั๋วก็จะถูกนำมาซ่อมบำรุงที่นี่”
ตกแต่งห้องฉายดาวให้เหมือนกับแสงออโรร่า
“ในวันอังคารที่ 5 มกราคม 2559 ที่กำลังจะถึงนี้ ทางศูนย์ฯ ขอเชิญชวนเยาวชน หรือประชาชนที่สนใจ สามารถเข้ามาเปิดประสบการณ์ใหม่ ด้วยการเรียนรู้ดาราศาสตร์ โดยผ่านการแสดงท้องฟ้าจำลองระบบดิจิตอล และสัมผัสโฉมใหม่ของตำนานดาราศาสตร์ที่วันนี้ผัดแป้ง แต่งตัวทันสมัยพร้อมออกแสดงสู่สายตาประชาชน” ตติยา ใจบุญ ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา กล่าวทิ้งท้าย.
หางานตามสาขาอาชีพ
JOBBKK.COM © สงวนลิขสิทธิ์ All Right Reserved