ผู้สมัครงาน
รู้สักหน่อยกับวิธีเบื้องต้นในการรักษาข้อมูลและเนื้อหาต่างๆ ที่คุณเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ ไม่ให้โดนขโมยไปใช้ซ้ำ ทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจ รับประกันว่าทำได้ ยาก-ง่ายต้องลองเอง…
ถ้าบอกว่า "อินเทอร์เน็ต" เป็นช่องทางเชื่อมต่อให้เราเข้าถึงข้อมูลจากทุกที่บนโลกก็คงไม่ผิด... เพราะแค่มีอินเทอร์เน็ต การค้นหาข้อมูลหรือเนื้อหาต่างๆ จากปลายทางก็ไม่ใช่เรื่องยากเย็นอีกต่อไป แต่เมื่อมีประโยชน์ ก็ต้องมีโทษด้วยเช่นกัน! และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อโซเชียลเน็ตเวิร์กได้ถือกำเนิดขึ้น ช่วยให้การกระจายข้อความ เรื่องราว รูปภาพ คลิปวิดีโอ มันแพร่ไปได้รวดเร็วจนเราต้องตกใจเมื่อได้รู้
คำถามคือ... เรามีวิธีป้องกันข้อมูลต่างๆ ที่ลอยเคว้งคว้างบนอินเทอร์เน็ต ไม่ให้ถูกคนอื่นมาฉกไปได้หรือไม่?
ใช้คอมพิวเตอร์ที่ยากแก่การตรวจสอบ ต้องระวังไวรัส เจาะ ล้วงข้อมูล
คำตอบคือ.. ถ้าเป็นข้อมูลบนโซเชียลที่คุณประโคมโพสต์ ทวีต หรืออัพโหลดรูป คลิปลงไปอยู่เป็นประจำ อันนั้นเห็นที่จะป้องกันได้ยาก! แต่หากคุณต้องการสงวนลิขสิทธิ์ให้เรื่องราวเหล่านั้น ก็ทำได้โดยการใส่สิ่งที่เรียกว่าลายน้ำ หรือ เครดิตลงไป ดังเช่นภาพถ่ายของระดับมือโปรที่เขานิยมใส่เครดิตติดเป็นติ่งในมุมใดมุมหนึ่งของภาพ เพื่อแสดงถึงลิขสิทธิ์นั่นเอง ส่วนวิธีการล็อกแบบลงยันต์น่ะบอกเลยว่ามันยากเหลือเกิน... ลำพังการเปิดเผยลงอินเทอร์เน็ตก็เสมือนเป็นการประกาศให้โลกรู้ แถมโซเชียลที่เราใช้กันอยู่ทุกวี่วันนี้ก็เหมือนเอารูปโพสต์ไปฝากคนอื่นไว้ ลอยอยู่บนก้อนเมฆของระบบคลาวด์ คอมพิวติ้ง ซึ่งกลายเป็นภาระการดูแลของผู้ให้บริการต่างๆ ที่จะป้องกันไม่ให้ระบบของตนเองถูกแฮกเกอร์มือดีมาฉกชิงข้อมูลของลูกค้าไป
แต่ถ้าพูดถึงข้อมูลตามเว็บไซต์ บล็อก หรือแม้แต่ข้อมูลในเครื่องคอมพิวเตอร์ของคุณ อันนั้นเราต้องขอบอกข่าวดี พอจะมีวิธีป้องกันการคัดลอกได้อยู่... ว่าแต่จะมีอะไรบ้าง ไม่ต้องเสียเวลาเดา ไปอ่านกันเลย...!
รหัสส่วนตัว... คือเป้าหมายที่โจรออนไลน์ต้องการ
Anti-Kobpae
แม้จะมีมาหลายปีแล้ว... แต่ก็ยังจัดว่าเป็นโปรแกรมที่เป็นหน้าเป็นตาคนไทยอีกโปรแกรมทีเดียว สำหรับ Anti-Kobpae (แอนตี้-ก๊อบแปะ) จากผลงานหนึ่งในงานวิจัยของศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) กับการพัฒนาระบบตรวจสอบความคล้ายกันของเอกสาร ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ทั้งภาษาไทยและอังกฤษทีเดียว โดยระบบสามารถตรวจสอบเอกสารในคลังเอกสารจำเพาะ และเอกสารออนไลน์บนอินเทอร์เน็ตได้ อีกทั้งระบบยังมีการทำงานในรูปแบบรับ-ให้บริการ (Client-Server) และพัฒนาเป็นลักษณะเว็บแอพพลิเคชั่น โดยสามารถตรวจสอบเอกสารในหลากหลายรูปแบบ ทั้ง Plain Text (*.txt), Microsoft Word (doc, docx) และ Open Office Writer (odt) สามารถทำสรุปเป็นเปอร์เซ็นต์ความคล้ายกันของเอกสารที่ตรวจสอบ และทำแถบสีที่ข้อความที่คล้ายกันได้อีกด้วย
ใส่ลิขสิทธิ์!
หรือคุณจะลองใช้วิธีบ้านๆ คือการใส่เครดิต ลายน้ำ หรือสัญลักษณ์เพื่อแสดงว่าเนื้อหาตลอดจนคลิปหรือรูปภาพเหล่านั้นเป็นเนื้อหาที่มีลิขสิทธิ์ก็ได้ อย่างน้อยก็ถือเป็นเครื่องเตือนใจและป้องกันให้ผู้ที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ไม่ต้องกลายเป็นผู้ละเมิดลิขสิทธิ์โดยไม่รู้ตัว
การอัพโหลดรูปลงโซเชียลก็เหมือนเพิ่มความเสี่ยงข้อมูล เพิ่มขึ้นอีกระดับหนึ่ง
เขียนบล็อกก็ต้องระวัง
สำหรับผู้ที่มีเนื้อหาและภาพเป็นลิขสิทธิ์จากการเขียนบล็อกต่างๆ ยิ่งต้องใส่ใจกับเรื่องนี้ให้มาก เพราะเราบอกแล้วว่าการสืบค้นข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตนั้นเป็นเรื่องง่าย... นั่นเท่ากับว่าผลงานของคุณยิ่งมีความเสี่ยงจะถูกละเมิดลิขสิทธิ์ได้มากตามไปด้วย บางเว็บก็มีการอำนวยความสะดวกให้สมาชิกผู้เขียนบล็อกอยู่แล้ว คุณจึงไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับการคัดลอกข้อมูล แต่สำหรับเว็บที่ไม่มีระบบป้องกันเอาไว้ให้... ผู้เขียนอาจจะต้องพยายามเพิ่มเติมอีกซักหน่อย ลองค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับพวกโค้ดป้องกันการคัดลอกเนื้อหา ยุ่งยากตั้งแต่ขั้นตอนแรกก็ยังดีกว่าต้องมาวุ่นวายเมื่อพบว่าเนื้อหาของคุณถูกละเมิดลิขสิทธิ์ไปนะ
โปรแกรมสำเร็จรูปก็มีระบบป้องกัน
ถือเป็นเรื่องที่หลายคนอาจจะยังไม่รู้ ว่าโปรแกรมใกล้ตัวเราก็มีระบบแบบนี้ด้วยเหรอ? ยกตัวอย่างเช่น Microsoft Word 2010/2013 เขียนแค่คุณคลิก File ที่อยู่มุมบนซ้ายมือ และเลือก Info ตามด้วย Encrypt with Password จากนั้นระบบจะให้คุณใส่ Password ซึ่งคุณต้องยืนยัน และเพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่เกิดฉุกเฉินว่าคุณลืมรหัสที่ตั้งขึ้นนั้น คุณอาจจะแอบเซฟข้อมูลไฟล์นั้นเก็บไว้ในที่ปลอดภัยและเป็นความลับอีกซักที่นึงก็เข้าที หรืออยากจะลบรหัสนั้นซะก็ได้... แค่เข้าไปตามขั้นตอนเดิม จากนั้นก็แค่เลือก Protect Document แล้วตามด้วย Encrypt with Password และลบรหัสนั้นออกไป พร้อมทั้งกด OK แค่นี้ก็กลับสู่ภาวะปกติทุกประการ อ่อ… เวอร์ชั่นอื่นก็ทำได้เหมือนกัน อาจจะแตกต่างกันนิดหน่อย แต่ทุกวิธีมีขั้นตอนสอนในอินเทอร์เน็ตชัวร์!
วายร้ายออนไลน์บางราย แพร่ไวรัสจากเน็ตและไดรฟ์เก็บข้อมูล
ใช้ไฟล์ PDF ช่วยได้
นอกจาก Microsoft Word ที่คุณๆ ใช้พิมพ์งานแล้ว ขั้นตอนนี้คุณจำเป็นต้องมี Adobe Acrobat X Pro อยู่ในคอมพิวเตอร์ด้วย เพื่อเปลี่ยนเนื้อหาจาก Word เป็นสกุล PDF ได้ทันที โดยเข้าโปรแกรม Word แล้วเลือก Acrobat และ Create PDF พร้อมทั้งตั้งชื่อไฟล์ตามใจคุณและเลือกที่จัดเก็บไฟล์แล้วกด Save ได้เลย หลังจากนั้นคุณก็จะได้ไฟล์ PDF สำหรับนำไปใช้ไม่ให้คนอื่นคัดลอก! แค่เลือกตั้งค่าไม่ให้เปลี่ยนแปลงเนื้อหานั่นเอง ขณะเดียวกันคุณยังสามารถเติมลิขสิทธิ์ลงไปในเนื้อหาได้อีกด้วย สบายใจหายห่วงเรื่องการคัดลอกเนื้อหาไปได้เลย
เทคนิคเทพปกป้องข้อมูล
รายละเอียดแนวนี้อาจจะดูซับซ้อนและวุ่นวายไปซักหน่อย เพราะถ้าไม่ใช่เซียนคอมพิวเตอร์แล้วก็ดูว่าจะต้องกุมขมับกันนานทีเดียว... แต่ก็ถือเป็นวิธีที่น่าสนใจเพราะสามารถป้องกันไม่ให้คนอื่นมา Copy ไฟล์ ข้อมูลของเราไปได้ง่ายๆ โดยหลังจากที่เราเปิดคอมพิวเตอร์ก็ต้องเข้าไปในส่วนที่เรียกว่า Registry Editor และคลิก Run และพิมพ์คำว่า Regedit พร้อมทั้งคลิกที่หัวข้อย่อย HKEY_LOCAL_MACHINE/SYSTEM/CurrentControlSet/ Control/StorageDevicePolicies หลังจากนั้นก้ต้องสร้าง Config ขึ้นใหม่ โดยคลิกขวาที่พื้นที่ว่างด้านขวามือและเลือกเมนู Edit และ New ตามด้วย DWORD จากนั้นก็ตั้งชื่อไฟล์ว่า WriteProtect และดับเบิล Config ที่เราสร้างขึ้นพร้อมทั้งตั้งค่าเป็นเลข 1 เมื่อเสร็จสิ้นทุกขั้นตอนแล้วก็ให้ออกจากโปรแกรม แล้ว Restrat เครื่องซักรอบนึงก็เป็นอันเสร็จ... ซึ่งวิธีนี้ประโยชน์ทางตรงไม่ใช่แค่ป้องกันการคัดลอกข้อมูล แต่ยังช่วยป้องกันไวรัสจากแฟลชไดรฟ์ได้อีกทางหนึ่งด้วย... ยุ่งยากแต่ช่วยให้คอมพิวเตอร์ปลอดภัย ยังไงก็น่าจะคุ้ม
อย่ายอมตกเป็นเหยื่อ หากคุณยังมีทางเลือก
ดาวน์โหลดซักโปรแกรม...
โปรแกรมดีๆ ที่มีประโยชน์นั้นยังมีอีกมาก คุณอาจจะลองค้นหาจากเสิร์ชเอนจิ้นต่างๆ ดูก็ได้ แต่ส่วนใหญ่แล้วก็จะพบโปรแกรมจำพวกป้องกันการคัดลอกข้อมูลบนแฟลชไดรฟ์ซะมากกว่า ไม่ต้องเสียเงินซื้อแพงๆ แค่ลองหาข้อมูลมากหน่อย อ่านรีวิวหรือค้นหาข้อมูลโปรแกรมเหล่านั้นอีกนิด คุณอาจจะได้โปรแกรมดีๆ ไว้ใช้ฟรีๆ เลยก็ได้นะ
อยากปกป้องข้อมูลสำคัญของคุณดูบ้างไหม อาจต้องเสียเวลาตั้งค่า เรียนรู้ขั้นตอนต่างๆ ไม่นาน แต่รักษาลิขสิทธิ์และผลงานของตัวเองไว้ได้ ก็น่าจะลองดู...!
หางานตามสาขาอาชีพ
JOBBKK.COM © สงวนลิขสิทธิ์ All Right Reserved