ผู้สมัครงาน
คุณจะทำอย่างไร (ดี) เมื่อสมัครงานแล้วเจอ HR นิสัยไม่น่ารัก อาทิ ...
ไปถึงที่แล้ว ยกเลิกสัมภาษณ์ซะดื้อ ๆ
นัดสัมภาษณ์ 8 โมง ได้สัมภาษณ์บ่าย 3
สัมภาษณ์แล้วบอกให้รอผล ผ่านไปเป็นเดือนก็ยังเงียบ
แจ้งว่าผ่าน แต่งานที่ได้ไม่ใช่ตำแหน่งที่สัมภาษณ์
ลางานทั้งที่มีนัดสัมภาษณ์ ปล่อยให้เราไปเก้อเฉย
บทความที่แล้ว Jobbkk ได้พูดถึงกรณีที่ผู้สมัครงานต้องการยกเลิกสัมภาษณ์ แต่ไม่แจ้งล่วงหน้า แล้วเงียบหาย โทรไม่รับ ปิดเครื่องหนีไปนั้น ส่งผลกระทบต่อการทำงานของ HR ผู้สมัครจึงมีโอกาสโดน Blacklist ที่จะส่งผลให้หางานยากขึ้นเรื่อย ๆ
ทีนี้จึงเกิดคำถามขึ้นว่า แล้วกรณี HR มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมล่ะ เช่นตัวอย่างข้างต้น ซึ่งก็ทำให้ผู้สมัครเสียเงิน ทั้งเสื้อผ้า ค่าเอกสาร ค่าเดินทาง เสียเวลา เสียโอกาสดี ๆ ไปไม่น้อย แบบนี้ผู้สมัครสามารถทำอะไรได้บ้าง ?
ผู้สมัครก็มีสิทธิ์เช่นกันนั่นแหละครับ แต่ประเด็นสำคัญที่อยากให้คุณลองวิเคราะห์ก่อนก็คือ
สิ่งที่คุณต้องการทำมันสามารถแก้ปัญหาเรื่องพฤติกรรมของ HR ที่ไม่เหมาะสมได้จริงหรือ ?
ทำแล้ว .. จะช่วยให้ปัญหานั้นลดลงหรือหมดไปได้จริงไหม ?
สำคัญสุด ทำแล้ว .. จะทำให้คุณมีโอกาสได้งานมากน้อยแค่ไหน ? ในเมื่อเป้าหมายสำคัญของคุณก็คือ “ได้งานทำ”
ลองไปดูกันครับ ว่าจะทำอย่างไร(ดี) ?
1 แชร์เรื่องราวลงโซเชียลให้โลกรู้ไปเลย : ข้อดีของออนไลน์คือ “เร็ว” ยิ่งถ้าเป็นโพสต์แล้วแชร์แบบสาธารณะ ข้อมูลนั้นก็ไปถึงเจ้าของเรื่องได้ไม่ยากเลย สามารถทำให้ทางบริษัทได้รับรู้ถึงปัญหาและนำไปปรับปรุงแก้ไขได้ครับ
แต่ประเด็นสำคัญที่ผู้สมัครต้องระวังมากที่สุด คือเรื่องราวที่โพสต์นั้นควรเป็นไปในทาง “ติเพื่อก่อ” พูดถึงปัญหาอย่างจริงใจ และอาจเสนอวิธีแก้ปัญหาให้เขาได้นำไปพิจารณาด้วยก็ยิ่งดีเลย ซึ่งนอกจากจะไม่เสี่ยงโดนความผิดทางกฎหมายแล้ว เมื่อ HR บริษัทอื่นมาเห็น โอกาสที่คุณจะโดนหักคะแนนในเรื่องของ Soft skill (ความฉลาดทางด้านอารมณ์) ก็จะไม่มากนัก เพราะจริง ๆ บริษัทส่วนใหญ่ก็ไม่ปรารถนากับพฤติกรรมผู้สมัครที่โพสต์ระบายลงออนไลน์อยู่แล้ว ยิ่งถ้าเป็นการโพสต์เพื่อด่าหยาบคายหรือจงใจให้บริษัทเกิดความเสียหาย โอกาสสัมภาษณ์งานนี่แทบหายไปเลยครับ
2 แจ้งกับบริษัทโดยตรง : อาจแจ้งกับพนักงานที่บริษัท หรือโทร – ส่งข้อความไปในช่องทางออนไลน์ของบริษัทก็ได้ ถือเป็นวิธีที่ทางบริษัทจะได้รับรู้และได้แก้ไขปัญหาเช่นกัน
แต่ประเด็นสำคัญก็อยู่ที่การใช้คำพูดอีกเหมือนกัน ควรเป็นการพูดเพื่อแนะนำให้เขาได้นำไปแก้ปัญหามากกว่าที่จะเป็นการต่อว่าเพื่อระบายอารมณ์ ยิ่งถ้าคุณมีความหวังที่จะได้งานกับบริษัทนั้น ยิ่งต้องระวังเลยครับ ส่วนกรณีที่คุณไม่ได้หวังงานจากที่นั้น แต่คุณอยากจะแนะนำให้เขาได้แก้ไขจริง ๆ ก็ถือเป็นเรื่องที่ดีมากครับ
3 แชร์เรื่องราวเฉพาะกับคนในครอบครัว คนสนิท : เป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์เพื่อให้คนในครอบครัวหรือคนสนิทได้เตรียมตัวเตรียมใจ หรือได้เตือนกันไปเลยว่าไม่ต้องไปสมัครกับบริษัทนั้น แต่ปัญหาอาจไม่ได้หมดไป 100% ยังไงแล้ว โอกาสที่จะไปเจอ HR ที่ทำตัวไม่น่ารักในบริษัทอื่นก็เป็นไปได้อยู่แล้ว แต่ HR ที่น่ารักก็มีเหมือนกันครับ
ทั้งนี้ การได้รู้ถึงปัญหาล่วงหน้า ทำให้ได้เตรียมใจไปก่อน เช่น การไปแล้วได้นั่งรอสัมภาษณ์นาน(มาก) ความโกรธก็จะน้อยกว่าคนที่ไม่เคยรู้ปัญหานี้ การจัดการกับอารมณ์เพื่อโฟกัสที่การเตรียมตัวเข้าสัมภาษณ์งานย่อมมีมากกว่า และถ้าสัมภาษณ์แล้วมันใช่ โอกาสได้งานก็อยู่ไม่ไกลด้วยครับ
4 ทำตัวเราให้ดีที่สุดก็พอ ใครเป็นไงเรื่องของเขา : เมื่อโลกออนไลน์ก็แชร์ไว้มากมาย คุณเห็นมาแล้ว หรือคุณเองก็อาจเคยมีประสบการณ์มาก่อนด้วย ดังนั้น เมื่อต้องไปสัมภาษณ์อีกก็เตรียมใจไว้เลย ถ้าไม่เจอก็โชคดี แต่ถ้าเจอก็ต้องพร้อมเผชิญอย่างมีสติ เพราะเป้าหมายคือการได้งาน ผลลัพธ์ของวิธีนี้จะคล้ายกับข้อ 3 คือ เป็นการโฟกัสที่การไปสัมภาษณ์งาน มากกว่าที่จะมองเรื่องอื่น และถ้าสัมภาษณ์แล้วมันใช่ โอกาสได้งานย่อมมีมากอยู่แล้วครับ
ทั้งนี้ ผู้สมัครที่มีแนวคิดและเลือกวิธีนี้ ส่วนใหญ่จะไม่นำสิ่งที่เป็นปัญหาของคนอื่นมาใส่ใจให้ตนเองรู้สึกแย่หรือท้อแท้ ดังนั้น เขาอาจจะไม่พูดถึงปัญหานี้ แต่ถ้าต้องพูดก็จะแนะนำเพื่อให้ปัญหาได้รับการแก้ไขจริง ๆ ไม่ใช่เป็นการด่าหรือต่อว่าให้ใครเสียหายและเดือดร้อน
อย่างไรก็ตาม หางานก็ว่ายากแล้ว แต่กว่าจะได้เข้าไปสัมภาษณ์และกว่าจะได้งาน ทุกคนต้องเจอกับปัญหาอีกมากมายที่กว่าจะผ่านมันไปได้ มันยากยิ่งกว่า
ที่บอกว่า นั่งตั้งหลายชั่วโมงกว่าจะได้สัมภาษณ์ แต่เมื่อเข้าไปทำงานแล้ว ปัญหามันหนักกว่าการนั่งรออีกหลายเท่าเลยครับ
สิ่งสำคัญที่จะทำให้ผ่านทุกปัญหาไปได้คือ Soft Skills เพราะเมื่อจัดการกับอารมณ์ได้ เราจะไม่นำปัญหานั้นมาเป็นอุปสรรค แต่เราจะสามารถเผชิญกับปัญหานั้นได้อย่างมีสติ เป้าหมายที่ตั้งไว้ย่อมสำเร็จได้แน่นอนครับ
ยังไงแล้ว เรื่องการสมัครและสัมภาษณ์งาน ไม่ได้หมายความว่า ต้องยอมอดทนให้ HR ทำยังไงกับเราก็ได้ เพื่อให้เราได้งานนะครับ แต่หากที่นั่นมันแย่เกินที่จะรับไหวจริง ๆ มองแล้วว่า ถ้าเข้าไปร่วมงานด้วยคงไม่มีความสุขแน่ ๆ คุณก็มีสิทธิ์เลือกไปที่อื่นได้อยู่แล้ว แต่ใช่ว่าที่อื่นจะไม่มีปัญหานะครับ จะมากหรือน้อยยังไงก็ต้องมี ซึ่งมันก็อยู่ที่คุณแล้วแหละ ว่าจะเลือกที่ไหนและมีวิธีอยู่ยังไงให้ไม่ทุกข์เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น
คลิกสมัคร Job Fair Online BY JOBBKK 2021 ครั้งที่ 4 สมัครพร้อมสัมภาษณ์กว่า 1,000 อัตรา
หางานตามสาขาอาชีพ
JOBBKK.COM © สงวนลิขสิทธิ์ All Right Reserved