ผู้สมัครงาน
ชาวนาเฮฝนตกหลายพื้นที่ โดยเฉพาะเหนือและอีสาน ส่งผลให้ระดับน้ำในเขื่อนใหญ่รวมทั้งแม่น้ำสายสำคัญมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนที่แม่สอดฝนถล่มหนักจนน้ำท่วมแถมทำให้ดินภูเขาสไลด์ทับโรงเรียนได้รับความเสียหาย นักเรียนวิ่งหนีตายกระเจิง ขณะที่หล่มสักน้ำในแม่น้ำป่าสักทะลักท่วมบ้านเรือนจำนวนมากต้องขนย้ายข้าวของกันโกลาหล ด้าน “บิ๊กตู่” สั่งหน่วยงานราชการประหยัดน้ำอย่างน้อย 10 เปอร์เซ็นต์ ด้านกรมส่งเสริมการเกษตรอ้างภัยแล้งชงขอเงิน 1,300 ล้าน ช่วยเกษตรกร 22 จังหวัด
หลังจากผจญภัยแล้งมานานหลายเดือนจนทำให้พืชไร่และข้าวในนายืนต้นตายเสียหายจำนวนมหาศาล ล่าสุดชาวเกษตรกรเริ่มยิ้มได้เมื่อฝนเริ่มตกแล้ว บางพื้นที่ถึงกับน้ำท่วม โดยเมื่อสายวันที่ 22 ก.ค. ผู้สื่อข่าว จ.เชียงราย รายงานว่าจากอุทกภัยน้ำท่วมในแคว้นสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน ประเทศจีนประกอบกับฝนตกที่ประเทศพม่าและพื้นที่ จ.เชียงราย ช่วงที่ผ่านมาทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงที่ อ.เชียงแสน วัดได้ 4.40 เมตร ถือว่าเป็นระดับน้ำที่สูงที่สุดในรอบปีนี้ ส่งผลดีกับการเดินเรือขนาดใหญ่ สามารถบรรทุกสินค้าได้เต็มจำนวนพิกัด สอบถาม น.อ.ภานุ รัตนนันทวาที ผบ.นรข.เขตเชียงราย กล่าวว่า น้ำที่ท่วมสิบสองปันนาอยู่ใต้เขื่อนใหญ่ของจีนทำให้น้ำไหลลงแม่โขงไม่รุนแรงซึ่งเจ้าหน้าที่ได้เฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดพร้อมจะแจ้งเตือนประชาชนตลอดเวลา ส่วนระดับน้ำโขงในพื้นที่ อ.เชียงของ จ.เชียงราย เพิ่มขึ้นมาอยู่ระดับ 3.4 เมตรแต่น้ำเป็นสีแดงขุ่น
ด้าน จ.น่าน นายอุกริช พึ่งโสภา ผวจ.น่าน กล่าวว่า ช่วงนี้พื้นที่ จ.น่าน ทั่วทั้งจังหวัดมีฝนตกต่อเนื่องหลายวันส่งผลให้เกษตรกรเริ่มลงมือปลูกพืชสวนกันแล้วหลังจากที่แห้งแล้งมานาน ขณะเดียวกันในพื้นป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์เริ่มมีเห็ดต่างๆออกจำนวนมาก จึงฝากเตือนประชาชน ผู้ที่นิยมนำเห็ดมาทำอาหารให้ระวังเห็ดมีพิษด้วย ส่วน อ.แม่สอด จ.ตาก เกิดพายุฝนถล่มอย่างหนักโดยเฉพาะเขตเทศบาลนครแม่สอดทำให้เกิดน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่ อาทิ ตลาดสดนครแม่สอด ตลาดพาเจริญ หน้าโรงพยาบาลแม่สอด ถนนสายเอเชียและถนนสายหลักในเขตเทศบาลรวมทั้งตามตรอกซอยและในลำห้วยแม่สอดที่ไหลผ่านเขตเทศบาล ระดับ
น้ำได้เริ่มเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
จากฝนที่ถล่มลงมาอย่างหนักทำให้ดินภูเขาสไลด์ลงมาบริเวณรั้วโรงเรียนส้มป่อยศึกษา หมู่ 5 ต.ด่านแม่ละเมา อ.แม่สอด ทำให้รั้วโรงเรียนทรุดตัวยาว 40 เมตร ส่งผลให้ห้องเรียนชั้น ป.1-ป.5 เกิดรอยร้าวยาวกว่า 20 เมตร นักเรียนที่อยู่ในห้องต่างวิ่งออกมานอกโรงเรียนเพราะกลัวจะพังลงมาจากดินสไลด์ทำให้ห้องเรียนเสียหายไป 4 ห้องเรียน นางมณีรัตน์ เขียวงาม ครูผู้สอนต้องนำนักเรียนจำนวน 90คนย้ายไปเรียนที่โรงอาหารแทนเพราะไม่มั่นใจในความปลอดภัย ขณะที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล ปัจจุบันที่น้ำทั้งสิ้น 3,922 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 29 เปอร์เซ็นต์ มีน้ำใช้การได้ 122 ล้าน ลบ.ม.หรือ 1.27 เปอร์เซ็นต์ เมื่อวันที่ 21 ก.ค. มีน้ำไหลเข้า 7.58 ล้าน ลบ.ม.
ที่ จ.อุตรดิตถ์ นายบุญยลักษณ์ ฉลองสัพพัญญู ผอ.โครงการชลประทานอุตรดิตถ์ เปิดเผยว่า เมื่อคืนวันที่ 21 ก.ค.มีฝนตกลงมาตลอดทั้งคืนจนถึงช่วงเช้าของวันที่ 22 ก.ค.ทำให้ชาวนาในพื้นที่ที่ประสบภัยแล้งเริ่มมีน้ำทำนาต่างพากันดีใจ สำหรับน้ำในเขื่อนสิริกิติ์ ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ 3,126.76 ล้าน ลบ.ม.หรือ 32.88% และปริมาณน้ำพร้อมใช้งานอยู่ที่ 276.76 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 4.16% และเมื่อคืนวันที่ 21 ก.ค.ที่ผ่านมามีฝนตกตลอดทั้งคืนส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนสิริกิติ์เพิ่มขึ้นพอสมควร
ส่วน จ.พิษณุโลก นางรติฬส มีคำแหง หัวหน้าสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดพิษณุโลก เปิดเผยว่า ช่วงนี้เกิดฝนตกหนักในทั่วทุกภาคของประเทศไทยโดยเฉพาะ จ.พิษณุโลก มีพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก อาทิ อ.วัดโบสถ์ อ.ชาติตระการ อ.นครไทย อ.เนินมะปราง และ อ.วังทอง มักเกิดน้ำป่าไหลหลากเป็นประจำทุกปีและปีนี้ปริมาณน้ำฝนเริ่มมากขึ้น อาจเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวได้ ทางป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดพิษณุโลกจึงได้เฝ้าระวังตลอด 24 ชม.โดยให้มิสเตอร์เตือนภัยทุกพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ หากเกิดน้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่มและน้ำท่วมฉับพลัน ต้องรายงานเหตุให้ทราบทันที
สำหรับ จ.นครสวรรค์ ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลผ่านพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ดีขึ้นและมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ผ่านมาเกษตรกรในลุ่มแม่น้ำให้ความร่วมมือหยุดสูบน้ำเพื่อทำการเกษตรและฝนตกในพื้นที่ภาคเหนือ ขณะที่นายวิศาล วสุนธาราพร ผอ.โครงการชลประทานนครสวรรค์ เปิดเผยว่า น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยามีปริมาณน้ำเพิ่มมากขึ้นทุกวัน ล่าสุดมีปริมาณน้ำไหลผ่าน 226 ลบ.ม./วินาที ทั้งยังมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามในช่วงนี้ยังคงห้ามเกษตรกรสูบน้ำเพื่อทำการเกษตรอย่างเด็ดขาด คงเหลือน้ำไว้เพื่อใช้ในการอุปโภค บริโภค รักษาระบบนิเวศและผลักดันน้ำเค็มเท่านั้น
ที่ จ.เพชรบูรณ์ ภายหลังฝนตกหนักต่อเนื่องนานหลายวันในพื้นที่ อ.ด่านซ้าย จ.เลย เขตติดต่อ อ.หล่มเก่า อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ ส่งผลให้มีปริมาณน้ำจาก อ.ด่านซ้าย ไหลผ่าน อ.หล่มเก่า เข้าสู่ อ.หล่มสักจำนวนมาก ทำให้แม่น้ำป่าสักมีระดับน้ำสูงขึ้น กระทั่งเช้ามืดวันเดียวกันน้ำล้นตลิ่งไหลบ่าเข้าท่วมบ้านเรือนในเขตเทศบาลเมืองหล่มสักเป็นวงกว้าง อาทิ ชุมชนท่ากกโพธิ์ ชุมชนบ้านไร่ ชุมชนวัดทุ่ง บริเวณหน้าสำนักงานเทศบาลตำบลตาลเดี่ยวและบ้านศรีสะอาด ประชาชนต่างระดมขนย้ายข้าวของขึ้นที่สูงกันอย่างโกลาหลโดยระดับน้ำมีความสูงเฉลี่ย 20-30 ซม.
ด้าน จ.สกลนคร หลายพื้นที่ยังคงมีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่องทำให้อ่างเก็บน้ำหลายแห่ง เช่น เขื่อนน้ำอูน เขื่อนน้ำพุง และแหล่งน้ำใหญ่น้อยต่างๆ อีก 44 แห่ง มีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นกว่า 40-50 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ ทะเลสาบน้ำจืดหนองหาร อ.เมืองสกลนครซึ่งเป็นทะเลสาบขนาดใหญ่ที่สุดของภาคอีสานและรองรับน้ำที่ไหลจากเทือกเขาภูพาน ได้เพิ่มปริมาณอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยมีปริมาณน้ำมากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ นอกจากจะเป็นผลดีต่อการเกษตรแล้วยังส่งผลดีต่อประชาชนและชาวประมงที่อาศัยอยู่โดยรอบหนองหารด้วย เนื่องจากน้ำที่เพิ่มขึ้นได้นำพาฝูงปลาจำนวนมากมากับสายน้ำทำให้ชาวบ้านแห่จับปลามาทำอาหารและขายสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ และที่ จ.หนองบัวลำภู คืนวันที่ 21 ก.ค. เกิดพายุฝนถล่ม หมู่ 14 ต.กุดจิก อ.เมืองหนองบัวลำภู ทำให้บ้านเลขที่ 108 ของนายเทา จันนอก อายุ 70 ปี เป็นบ้านสองชั้นครึ่งปูนครึ่งไม้ถูกพายุหอบหลังคาบ้านหลุดหายไปทั้งหลังและ
หลังคายุ้งข้าวของเพื่อนบ้านที่อยู่ติดกันถูกพายุพัดหายไปครึ่งหนึ่งทำให้ข้าวในยุ้งเปียกฝนเสียหาย
ขณะที่กรมอุตุนิยมวิทยาพยากรณ์อากาศว่า ช่วงวันที่ 23-25 ก.ค. มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันประเทศไทยและอ่าวไทยมีกำลังอ่อนลง ประกอบกับร่องมรสุมจะเลื่อนไปพาดผ่านประเทศพม่าและประเทศลาวตอนบนแต่ยังคงทำให้บริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออก เฉียงเหนือมีฝนตกต่อไปอีก จากนั้นช่วงวันที่ 26-28 ก.ค. ร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านตอนบนของภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทยและอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีฝนเพิ่มขึ้น สำหรับภาคเหนือจะมีฝนตกตลอดช่วงนี้
ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) โดย พล.อ.ประยุทธ์กล่าวช่วงต้นของการประชุมว่า ต้องยอมรับมีปัญหาที่น้ำต้นทุนต้องมาจากน้ำฝนเป็นหลัก ประกอบกับปรากฏการณ์เอลนินโญ รัฐจึงต้องเตรียมมาตรการลดความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง และเพื่อให้เกิดความมั่นคงในระยะต่อไป รัฐบาลต้องใช้งบประมาณดำเนินตามแผนจำนวนมาก ระมัดระวังในการใช้จ่าย ทั้งงบประจำปีและเงินกู้ ทั้งประเทศไทยยังอ่อนด้อยในการสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคเศรษฐกิจต้องสื่อสารและทำความเข้าใจให้ประชาชนได้รับทราบ
หลังประชุม พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ว่าได้สั่งให้นำแผนต่างๆมาดูและสรุปผลตั้งแต่ปี 57 จนถึงปี 69 ทั้งน้ำอุปโภค บริโภค น้ำประปา การแก้ปัญหาน้ำท่วม การระบายน้ำ การส่งน้ำ การสร้างที่เก็บกักน้ำเพื่อดูแลทั้งภารกิจในเรื่องของการสนับสนุนเรื่องน้ำไปให้ทุกกิจกรรม การประปาน้ำอุตสาหกรรม น้ำการเกษตร การผลักดันน้ำทะเล ถ้าไม่สามารถบริหารจัดการน้ำได้จะเป็นปัญหาในอนาคต หากทุกคนไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการใช้น้ำ การปลูกพืชใช้น้ำน้อย หรือการปลูกพืชตามดีมานด์และซัพพลายที่ควรเป็น
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวต่อว่า ต้องสร้างการรับรู้ให้มากขึ้น เรื่องน้ำเป็นเรื่องสำคัญไม่อยากให้ตื่น ตระหนก เพราะน้ำน้อย น้ำแล้ง ต้องช่วยกันสร้างความเข้าใจว่าจะอยู่กันอย่างไร ไม่เช่นนั้นจะทะเลาะ เบาะแว้งกันไปหมด วันนี้ให้ทหารไปทำ ทหารก็ไม่อยากจะใช้กฎหมายมากนักกับประชาชนเพราะรู้ว่าเดือดร้อน ขอความร่วมมือส่งน้ำไปเฉพาะที่นาข้าวตั้งท้องได้หรือไม่ นาที่ไม่ตั้งท้องไม่ให้ ช่วยขอตรงนี้ไว้ก่อนและตรงไหนถ้ามันเสียหาย รัฐบาลต้องดูแลเรื่องการเยียวยาแต่ถ้ามันสูงมากนักก็ไม่ไหวเหมือนกัน ส่วนการจ้างงานกำลังให้กระทรวงมหาดไทยเร่งดำเนินการร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
“ขอให้ทุกคนช่วยกันประหยัดน้ำ วันนี้สั่งการไปแล้ว ส่วนราชการต้องช่วยกันประหยัดน้ำอย่างน้อยให้ได้สัก 10% ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ยกเว้นสถานที่สำคัญที่มีความจำเป็นต้องใช้ ต้องรายงานรัฐบาลทุกเดือน อย่างน้อยให้ได้ความรู้สึกที่ดีต่อกัน มีความพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ภาคส่วนอื่นๆต้องช่วยกัน ขอร้องภาคอุตสาหกรรมต่างๆสิ่งไหนไม่จำเป็นขอให้ลดลง อย่าใช้แบบเดิม ส่วนการกักเก็บและการปล่อยน้ำในเขื่อนให้ความสำคัญหมด แต่ของเก่าไม่ต้องมาพูดแล้ว วันนี้ไม่ต้องกลัวน้ำท่วม วันนี้ดูหมด 6 ยุทธศาสตร์ 12 กิจกรรม บวกกับที่ผมสั่งไปอีก” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
นายโอฬาร พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า จากภาวะแล้งในช่วงหน้าฝนและระดับน้ำในเขื่อนยังต่ำปีนี้ทำให้โอกาสสูงที่ฤดูแล้งปี 59 ชาวนาลุ่มเจ้าพระยา 22 จังหวัดจะไม่มีน้ำในเขื่อนเพียงพอทำนาปรังปี 59 กรมจึงเตรียมโครงการช่วยเหลือเกษตรกรเพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ในสัปดาห์หน้าพิจารณาอนุมัติวงเงินประมาณ 1,300 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 2% วงเงินสินเชื่อรายละไม่เกิน 100,000 บาท ให้แก่ชาวนารายย่อยในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา 22 จังหวัด ที่มีที่นาไม่เกิน 25 ไร่ โดยรัฐบาลรับภาระชดเชยดอกเบี้ยให้เกษตรกรเพาะปลูกพืชใช้น้ำน้อย สร้างรายได้ช่วงหน้าแล้งแทนการปลูกข้าวนาปรัง
ส่วนนายสุเทพ น้อยไพโรจน์ รองอธิบดีกรม ชลประทาน กล่าวว่า สถานการณ์น้ำ 4 เขื่อนหลักของลุ่มเจ้าพระยาได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ ป่าสักชลสิทธิ์ และแควน้อยบำรุงแดน เมื่อวันที่ 22 ก.ค.ที่ผ่านมา สถานการณ์น้ำดีขึ้นมีน้ำไหลเข้าเขื่อนจากฝนที่มาเติมใน 4 เขื่อน รวม 34.83 ล้าน ลบ.ม.มากกว่าการระบายน้ำออกที่มีประมาณ 19.06 ล้าน ลบ.ม. อย่างไรก็ตาม ยังต้องบริหารการใช้น้ำใกล้ชิดเหมือนเดิม เพราะภาพรวมน้ำ 4 เขื่อนมีน้ำใช้การได้ 495 ล้าน ลบ.ม. หรือ 3% ของความจุ 4 เขื่อนเท่านั้น
ที่ทำเนียบรัฐบาล สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ พล.อ.ท.ภักดี แสงชูโต รองหัวหน้าสำนักงานราชเลขานุการในพระองค์เป็นผู้แทนพระองค์ อันเชิญน้ำดื่มจำนวน 2 แสนขวด พระราชทานแก่โครงการปันน้ำดื่มเพื่อพี่น้องไทยประสบภัยแล้ง “น้ำพระทัย Bike for Mom พระราชทานดับภัยแล้ง” แก่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.เพื่อนำไปมอบให้แก่ราษฎรผู้ประสบภัยแล้งโดย พล.อ.ประยุทธ์เปิดเผยว่า สมเด็จพระบรม โอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้พระราชทานน้ำดื่มจากโครงการมาให้ จากนี้จะมีการกระจายไปยังจังหวัดต่างๆ ในพื้นที่ที่ประสบภัยแล้งเพราะไม่ได้เดือดร้อนกันทุกพื้นที่เป็นน้ำพระทัยให้ประชาชนได้มีความสุขเป็นขวัญกำลังใจ ทุกอย่างพระราชทานจากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า เข็มกลัด ทั้งหมดนี้อยู่ที่ใจของคนไทยทุกคนจะให้ทุกอย่างราบรื่น
หางานตามสาขาอาชีพ
JOBBKK.COM © สงวนลิขสิทธิ์ All Right Reserved